13 วิธีการประนอมหนี้กับธนาคาร
กรณีผ่อนบ้าน/คอนโด ต่อไม่ไหว

“ผ่อนต่อไม่ไหว” ปัญหาที่ใครๆ ก็คงไม่อยากเจอแต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการผันผวน ทั้งด้านเศรษฐกิจ, ค่าครองชีพ, ราคาน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บวกด้วยภาระหลายๆทางที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ ก็เลยเป็นเหตุผลให้บางคนตัดสินใจจะทิ้งภาระใหญ่ๆ เช่น บ้านและคอนโด โดยการ ‘ปล่อยให้ธนาคารยึด’ แต่วิธีนี้คือทางออกที่ดีที่สุดหรือยัง? สำหรับใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้อยู่ อย่าเพิ่งท้อใจ เรามารู้จัก ‘การประนอมหนี้’ กันค่ะ
วันนี้ IQI Thailand มี 13 วิธีการประนอมหนี้กับธนาคาร กรณีที่ผ่อนบ้าน/คอนโด ไม่ไหว มีเงื่อนไขยังไงบ้างมาลองเช็คไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
▪ การประนอมหนี้ คืออะไร

การประนอมหนี้ คือ การเจรจาข้อตกลงกับเจ้าหนี้ เช่น การลดหย่อน, การผ่อนผัน หรือ ปรับเปลี่ยนข้อตกลงเพื่อจะช่วยชะลอเวลาที่เจ้าหนี้จะดำเนินการ ฟ้องร้องไปจนถึงการยึด เนื่องจากลูกหนี้ผิดนัดชำระ การประนอมหนี้จึงเป็นการช่วยลดภาระในการชำระหนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกหนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้นเองค่ะ
▪ 13 วิธีการประนอมหนี้กับธนาคาร
1) ขอผ่อนผันชำระคืนหนี้ค้าง
เมื่อเริ่มขาดการชำระค่างวด ลูกหนี้เจรจาขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ได้สูงสุด 36 เดือนติดต่อกัน ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น เฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นงวดๆ เท่าๆ กันและผ่อนคืนติดต่อกันทุกงวด หรือขอจ่ายทั้งหมดในเวลาที่ตกลง (เป็นเงินก้อน) หรือจ่ายเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามเวลาที่ตกลงกัน
2) ขอขยายเวลาชำระหนี้
ลูกหนี้สามารถขอขยายระยะเวลาในการกู้เงินต่อไปได้นานถึง 30 ปี นับจากปัจจุบันเพื่อลดยอดผ่อนในแต่ละงวดให้ชำระน้อยลง ซึ่งเงื่อนไขทั่วไป กำหนดว่าอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ขอขยายต้องไม่เกิน 70 ปี และที่สำคัญหากมีดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ก็ต้องชำระให้หมดก่อ
3) ขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยค้าง
กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดได้ ลูกหนี้สามารถขอกู้เพื่มพร้อมขยายระยะเวลากู้เงินได้ แต่มีเงื่อนไข คือ ต้องชำระเงินงวดให้เป็นปกติสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนก่อน และอัตราผ่อนใหม่ (วงเงินที่ขอกู้เพิ่มรวมกับเงินต้นคงเหลือ) จะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 25% ของเงินงวดเดิม
4) ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย
บางสถานการณ์ (ยกตัวอย่าง : ช่วงนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19) บางสถาบันอาจจะมีการลดหย่อนให้ชำระได้เฉพาะดอกเบี้ยรายเดือนได้ เงื่อนไขแบบนี้จะให้ได้เฉพาะกับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระที่ดีเท่านั้น และระยะเวลาผ่อนผันชำระจะให้ได้นานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และขอได้เพียงครั้งเดียว
5) ขอชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ
เงื่อนไขของการขอผ่อนชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ สถาบันการเงินต่างๆ มักจะกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต้องมากกว่าดอกเบี้ย ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ระยะเวลาในการผ่อนชำระในกรณีนี้จะต้องไม่เกิน 2 ปีและขอดำเนินการได้เพียงครั้งเดียวเช่นกัน
6) ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ
หากลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นจากอัตราปกติ สามารถขอเเจ้งลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้ค่ะ แต่ต้องชำระยอดหนี้ที่ค้างทั้งหมดเป็นก้อนเดียว (เงินต้น และ ดอกเบี้ยที่คงค้าง) หรือชำระเป็นเงินก้อนแต่แบ่งจ่ายจำนวนเท่าๆ กัน 3 งวด
7) ขอโอนทรัพย์ให้ธนาคาร (ชั่วคราว)
กรณีผ่อนต่อไม่ไหว ลูกหนี้สามารถโอนทรัพย์ให้กับธนาคารและสามารถขอซื้อกลับคืนได้ภายหลัง ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นธนาคารจะรับโอนหลักประกัน โดยจะหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในจำนวนที่ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน หากมีหนี้ส่วนที่เกินลูกหนี้จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันโอน
(ในระหว่างที่โอนทรัพย์ให้กับธนาคาร ลูกหนี้ก็ยังสามารถพักอาศัยในทรัพย์นั้นได้ แต่ธนาคารจะคิดค่าเช่า ซึ่งค่าเช่าจะต่ำกว่าอัตราผ่อนชำระหนี้เดิม หากพร้อมซื้อคืนลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารเดิมได้)
8) ขอให้ชะลอฟ้อง
กรณีลูกหนี้ขาดการผ่อนชำระนาน จนธนาคารจะต้องดำเนินการฟ้องบังคับจำนอง เราสามารถเจรจาขอให้ธนาคารนั้นชะลอการฟ้องได้ แต่ขั้นตอน และ เงื่อนไขจะมีความซับซ้อน เช่น ต้องชำระตามกำหนดไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแล้วผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิม หรือ ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยโดยไม่ผิดนัดเป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผันและลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยไม่ขาดส่ง ธนาคารก็จะคำนวณเงินงวดใหม่ที่ลูกหนี้ต้องชำระต่อไป
9) ขอให้ธนาคารถอนฟ้อง
ลูกหนี้ที่กำลังจะถูกฟ้อง การขอประนอมหนี้คือจะต้องมาติดต่อชำระหนี้ให้ทันงวด และ ไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่นให้ครบถ้วน
10) ขอให้ชะลอการขายทอดตลาด
ลูกหนี้สามารถเจรจากับสถาบันการเงินให้ชะลอการขาดทอดตลาดเอาไว้ก่อนได้ แต่ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล, ค่าใช้จ่ายต่างๆในชั้นฟ้องคดี และ บังคับคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความเพื่อไปเลื่อนการขายให้ครบถ้วน เสร็จแล้วก็ต้องชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ก่อนแล้วค่อยให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ใหม่
11) ขอยอมความกับธนาคาร
ลูกหนี้อาจขอยอมความกับธนาคารได้ โดยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล, ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีหรือค่าทนายความ โดยมีเงื่อนไข คือ ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือขอกำหนดเงินผ่อนชำระใหม่ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระช่วง 1-2 ปีแรกแล้วปรับเพิ่มเงินงวดสูงขึ้นจนชำระหนี้เสร็จสิ้น
12) ขอชะลอการยึดทรัพย์
กรณีที่ถูกศาลพิพากษาแล้วให้ดำเนินการยึดทรัพย์ ลูกหนี้สามารถขอชะลอการยึดทรัพย์ได้ โดยมีเงื่อนไขให้ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีค่าทนายความ รวมถึงค่าพาหนะในการเดินทางของทนายความเพื่อไปเลื่อนคดีและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบังคับคดี
ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน และต้องชำระหนี้บางส่วนตามจำนวนที่ตกลงโ ดยถ้าราคาประเมินหลักประกันสูงกว่ายอดหนี้เกินร้อยละ 80 ลูกหนี้อาจทำสัญญากู้ใหม่ได้ เมื่อได้ชำระหนี้ตามข้อตกลงกับธนาคารติดต่อกันแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด
13) ขอเปลี่ยนลูกหนี้
เงื่อนไขข้อนี้ ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล, ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชั้นฟ้องคดีและชั้นบังคับคดีให้หมดเสียก่อน และลูกหนี้เดิมจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้เจรจาขอประนอมหนี้จากนั้นก็ค่อยให้ผู้กู้รายเดิมหรือผู้กู้รายใหม่ยื่นคำขอกู้ต่อไปตามสัญญากู้ใหม่ กู้เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ปัญหายังคงมีทางออกที่ดีที่สุดเสมอ บทความ ‘การประนอมหนี้’ ที่ IQI Thailand นำมาฝากกันครั้งนี้ จะเป็นหนทางในการช่วยคลี่คลายปัญหา เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ไข ความยากและซับซ้อนก็จะมากขึ้นได้ค่ะ