ทะเบียนบ้านมีกี่ประเภท? และข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้าน

 

การขอทะเบียนบ้าน หรือ แม้แต่บ้านเลขที่ ขั้นตอนที่จะต้องทำหลังจากสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือการซื้อบ้านเองก็ตาม ซึ่งจะเป็นทะเบียนประจำบ้านแต่ละหลัง มีบ้านเลขที่กำกับ รวมไปถึงรายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่อาศัยในบ้าน
โดยวันนี้ IQI Thailand ชวนทุกคนมารู้จักประเภทของทะเบียนบ้านรวมถึงข้อควรรู้ในการขอทะเบียนบ้านจะมีขั้นตอนอย่างไรและใช้เอกสารอะไรบ้าง

 

ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนประจำบ้านของบ้านแต่ละหลัง มีบ้านเลขที่กำกับอยู่ รวมถึงรายชื่อของบุคคลทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยจะบอกว่าใครเป็น เจ้าบ้าน และ ผู้อยู่อาศัย รวมถึงรายละเอียดของบุคคลเช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน, สถานะเจ้าบ้านหรือผู้อยู่อาศัย และตำแหน่งที่อยู่ของเราอย่างชัดเจนถูกต้องตามกฎหมายที่สุด

 

 

ประเภทของทะเบียนบ้าน มีอะไรบ้าง?
1. ทะเบียนบ้านชั่วคราว
ทะเบียนบ้านที่ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ซึ่งทะเบียนชั่วคราวถูกใช้ในกรณีบ้านไม่ได้ขออนุญาตปลูกสร้างบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ เขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่บุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องได้รับการออกทะเบียนบ้านชั่วคราวก่อน หลังจากพิสูจน์และตรวจสอบเสร็จแล้วจึงจะได้รับเอกสารทะเบียนบ้านฉบับปกติ
2. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน
เป็นทะเบียนบ้านที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการลงรายการชื่อของบุคคลต่างๆที่ทำการของแจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากที่อยู่เดิมไปยังบ้านเลขที่ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ทำการย้ายออก
3. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.13)
ทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลของต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4. ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
ทะเบียนบ้านที่ใช้ลงรายการชื่อบุคคลที่มีสัญชาติไทยและบุคคลต่างด้าวที่มีใบประจำตัวคนต่างด้าว
5. ทะเบียนกลาง
เป็นเอกสารที่ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน จะใช้ลงรายการชื่อบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

 

 

การขอทะเบียนบ้าน หรือ บ้านเลขที่ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
1. เอกสาร ท.ร.9 หรือใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน ออกให้โดยหน่วยงานท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.)
2. ใบอนุญาตก่อสร้างหรือหนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน (ถ้ามี)
3. โฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง
4. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้าน
5. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งขอทะเบียนบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
6. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
หนังสือบมอบอำนาจใช้ในกรณีที่เจ้าของบ้านไม่สามารถมาติดต่อขอบ้านเลขที่หรือทะเบียนบ้านด้วยตัวเอง โดยจะต้องใช้เอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของบ้าน พร้อมลงกำกับสำเนาถูกต้องในเอกสารสำคัญอย่างละ 1 ชุด ซึ่งใช้ประกอบในหนังสือมอบอำนาจ รายละเอียดในเอกสารหนังสือมอบอำนาจจะต้องมีพยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงชื่อทราบเพื่อเป็นพยานในการมอบอำนาจ
7. รูปถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบไปด้วย 4 ด้าน คือ ด้านหน้า, ด้านหลัง, ด้านซ้าย และด้านขวาของตัวบ้าน

 

 

ขั้นตอนการขอทะเบียนบ้าน
หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่างๆเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการขอบ้านเลขที่และขอทะเบียนบ้านมีดังนี้
1. ยื่นเรื่องติดต่อขอบ้านเลขที่และสมุดทะเบียนบ้าน ณ สำนักทะเบียนในพื้นที่ปลูกสร้าง
2. นายทะเบียนตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง
3. ออกบ้านเลขที่ รวมถึงจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน
4. ส่งมอบให้แก่เจ้าของบ้านหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ

 

ข้อควรรู้
การดำเนินการยื่นเอกสารขอทะเบียนบ้านจะต้องอยู่ในระยะ 15 วัน หลังจากการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ (ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534) หากไม่ดำเนินการภายใน 15 วันจะถือว่ามีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ขอบคุณข้อมูล ddproperty